หยุดการเข่นฆ่าในฟิลิปปินส์ ! ร่วมเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับดูเตอร์เต ผู้ก่ออาชญากรรมแก่ชาวฟิลิปปินส์ !

ภาพถ่ายโดย Lucky dela Rosa/Philippine Collegian

ภาพถ่ายโดย Lucky dela Rosa/Philippine Collegian

ลงนามในคำชี้แจง: https://forms.gle/7tufsSS2TJASUpD99. คำกล่าวนี้ มีฉบับภาษา อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, อาราบิค และ จีน

***

สิงหาคม นับเป็นเดือนแห่งการนองเลือดในประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีรอดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) และคณะ โดยสี่ปีที่แล้ว ในวันที่ 16 สิงหาคม 2017 ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมเคียน เดลอส ซานตอส (Kian Delos Santos) นักเรียนมัธยมปลายวัย 17 ปีคนหนึ่งระหว่างออกปฏิบัติการปราบปรามขบวนค้ายาเสพติด กลางตรอกสกปรกอุดมขยะในย่านชุมชนผู้มีรายได้น้อยแห่งหนึ่งริมแม่น้ำทุลลาฮัน (Tullahan River)

ต่อมา ในวันที่ 18 สิงหาคม 2017 คาร์ล แองเจโล อาร์เนส (Carl Angelo Arnaiz) วัย 19 ปี หายตัวไปพร้อมกับ เรย์นัลโด “คูลอท” เดอ กุซแมน (Reynaldo “Kulot” de Guzman) วัย 14 ปี มีผู้พบเห็นทั้งคู่เป็นครั้งสุดท้ายที่เมืองคาอินทา (Cainta) จังหวัดริซาล (Rizal) ร่างของคาร์ลถูกพบในอีกสิบวันให้หลัง ที่โรงเก็บศพแห่งหนึ่งในเมืองคาโลโอคัน (Caloocan) ตำรวจทำการชันสูตรพลิกศพของเขา พบร่องรอยบ่งชี้ว่าเขาถูกสังหารในท่านอนคว่ำ พบกระสุนปืนสองนัดที่อกข้างขวา หนึ่งนัดที่กลางอก หนึ่งนัดที่อกข้างซ้าย และอีกหนึ่งนัดที่ท้อง รวมเป็นจำนวนกระสุนทั้งหมด 5 นัด ในขณะที่มีผู้พบศพของคูลอทลอยในคลองแห่งหนึ่งในจังหวัดนูเอบา เอซิฮา (Nueva Ecija) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2017 ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่คาอินทาประมาณ 70 กิโลเมตร ที่มีผู้เคยพบเห็นเขาอยู่กับคาร์ลเป็นครั้งสุดท้ายนั่นเอง ศีรษะของคูลอทถูกพันด้วยเทปกาว ในขณะที่ร่างของเขามีรอยทิ่มแทงจากของมีคมถึง 31 แผล

กลุ่มตำรวจให้เหตุผลในการวิสามัญเคียนว่า ผู้ตายเป็นนักขนส่งยาเสพติด กลุ่มตนเพียงโต้ตอบภัยยาเสพติดตามแนวคิดนันลาบัน (Nanlaban) เมื่อเผชิญหน้ากับเคียน ซ้ำยังอ้างว่าพบปืนขนาดลำกล้อง .45 ปลอกกระสุนปืน 4 อัน และถุงต้องสงสัยว่าบรรจุยาบ้าชนิดเม็ดเมทแอมเฟตามีนผสมคาเฟอีน 2 ถุงจากเด็กหนุ่ม ตำรวจอีกกลุ่มที่พบคาร์ลเล่าเหตุการณ์ในทำนองคล้ายกัน โดยอ้างว่าเด็กหนุ่มผู้เสียชีวิตรายนี้จัดฉากการจี้ปล้นนักขับแท็กซี่รายหนึ่งในเมืองคาโลโอคัน และเป็นผู้ยิงทำร้ายตำรวจที่มาควบคุมสถานการณ์ ก่อนที่คาร์ลจะถูกวิสามัญฆาตกรรมในที่เกิดเหตุเช่นกัน รายงานจากทางตำรวจชี้ว่าพบปืนขนาด .38 ใบกัญชาสองถุง ยาบ้าชนิดเดียวกับที่ตำรวจอ้างว่าพบจากเคียน 3 ถุง และกระเป๋าเป้บรรจุ “เครื่องใช้ส่วนตัว” จากคาร์ล

นันลาบัน ที่ว่านี้ เป็นคำเรียกเรื่องราวที่ตำรวจฟิลิปปินส์พยายามเล่า เพื่อให้พวกตนมีความชอบธรรมในวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพยาติดนับร้อยคดี อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเหล่านี้กลับอุดมไปด้วยช่องโหว่ระหว่างเรื่องราว และข้อชวนสงสัยจากทางตำรวจมากมาย อาทิ การพบหลักฐาน เช่น ปืนและยาเสพติดชนิดคล้ายกันซ้ำๆ เป็นข้ออ้างคล้ายเดิมอย่างชัดเจน เพื่อสร้างเรื่องราวของการเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจออกปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ ยังมีผู้พบเห็นกองกำลังติดอาวุธนอกเครื่องแบบคว้าตัวเคียนจากร้านค้าประจำครอบครัวของเด็กหนุ่ม ก่อนจะตบตีและชกต่อยกระทั่งเขาร้องขอชีวิต ภาพจากกล้องวงจรปิดยังฉายให้เห็นวินาทีที่เคียนถูกลากตัวไปยังตรอกที่เขาถูกพบเป็นศพในภายหลังด้วย ในกรณีของคาร์ล การพบร่องรอยถูกทิ่มแทงขัดกับคำให้การจากตำรวจที่อ้างว่าปะทะกับผู้ตายด้วยกระสุนปืน แสดงให้พวกเราทราบได้อย่างชัดเจน ว่าเด็กหนุ่มทั้งสองถูกสังหารอย่างเลือดเย็น

คดีอุ้มฆ่าของทั้งเคียน คาร์ล และคูลอท เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่กี่วัน ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจขนาดใหญ่ในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ อันนำไปสู่การตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายด้วยข้อหาเจตนาฆ่านายเคียน และการออกหมายจับตำรวจอีก 2 นาย ในข้อหากระทำการทรมาน ยัดหลักฐานมัดตัวเท็จ และเจตนาฆ่านายคาร์ลและเด็กชายคูลอทอย่างโหดเหี้ยม อย่างไรก็ตาม เหตุสังหารเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง ไร้ซึ่งยางอายและปราศจากการได้รับโทษ ถึงขนาดที่ภัยจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็ไม่อาจหยุดความเลวร้ายนี้ได้ หน่วยงานดำเนินการต่อต้านยาเสพติดประจำประเทศฟิลิปปินส์ (the Philippine Drug Enforcement Agency) ให้ข้อมูลว่า มีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดเพิ่มสูงถึง 6,165 รายในเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา และนับพันรายในนั้น ต่างถูกสังหารด้วยมือปืนนิรนามที่กระทำการเข่นฆ่าเช่นศาลเตี้ยอีกด้วย

ครอบครัวของเหยื่อจากภัยสงครามนี้ยังคงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม แม้กระบวนการยุติธรรมและคำเนินคดีผู้กระทำผิดภายในประเทศจะล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ และไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดในเหตุสังหารเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ สำนักงานอัยการประจำซาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court; ICC) จึงเสนอให้มีการสืบสวนคดียาเสพติด อันอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีดูเตอร์เตกลับยังมีท่าทีไม่ครั่นคร้ามต่อองค์กรระดับโลก และอาจจะไร้ซึ่งสำนึกต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ ระหว่างการปราศรัยในฐานะประมุขแห่งรัฐครั้งล่าสุด เขาได้พูดจาเยาะเย้ย ICC ทวนซ้ำถึงแนวคิดนันลาบันอันเป็นเสมือนนโยบายสังหารหมู่ประชาชนโดยรัฐ ที่ซึ่งถูกนำไปใช้ทั้งในสงครามยาเสพติด แต่ยังรวมไปถึงมาตรการปราบปรามการก่อกบฎ โดยดูเตอร์เตได้ให้คำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารให้ “ยิงพวกผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นกบฎคอมมิวนิสต์ให้ตายเสีย”

แรนดัล เอคานิส (Randall Echanis) นักส่งเสริมสันติภาพและการอนุรักษ์ผืนดินแลัสิ่งแวดล้อม ถูกสังหารที่บ้านพักของตนเองในเมืองเควซอน (Quezon) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2020 ผลชันสูตรจากนักนิติเวชวิทยาอิสระรายหนึ่ง รายงานว่าเขาถูกทรมานก่อนถูกแทงกระทั่งเสียชีวิต แรนดัลเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับแนวหน้าประชาธิปไตยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Democratic Front of the Philippines; NDFP) ทางด้านการเจรจาสันติภาพกับทางรัฐบาลฟิลิฟฟินส์มาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการแรงงานปฏิรูปด้านสังคมและเศรษฐกิจของ NDFP รวมถึงอดีตประธานของอานัคพาวิส (Anakpawis) พรรคการเมืองฟิลิปปินส์ฝั่งซ้าย และอดีตผู้รักษาการเลขาธิการใหญ่แห่งกลุ่มกองกำลังประชาชนระดับรากหญ้าเพื่อประชาธิปไตย (Kilusang Magbubukid ng Pilipinas) อีกด้วย

ในขณะที่ร่างของแรนดัล หรือ คา แรนดี (Ka Randy) กำลังผ่านพิธีศพในวันที่ 17 สิงหาคม 2020 อยู่นั้นเอง ซารา อัลวาเรส (Zara Alvares) นักสิทธิมนุษยชนอีกรายก็ถูกสังหารที่เมืองบาโคลอด (Bacolod) จังหวัดเนกรอส ออคซิเดนทัล (Negros Occidental) โดยมือปืนที่ยังระบุตัวตนไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้ ผู้คนจดจำซาราได้ในฐานะผู้ช่วยทนายประจำกลุ่มพันธมิตรการาปาตันแห่งฟิลิปปินส์ (Karapatan) ณ เกาะเนกรอส บุคลากรทางด้านสุขภาพ และในฐานะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่ง ทั้งคา แรนดี และซารา มีรายชื่อในบัญชีบุคคลที่ทางกระทรวงยุติธรรมร้องเรียนเพื่อให้เนรเทศออกจากฟิลิปปินส์ในฐานะ “ผู้ก่อการร้าย” เมื่อปี 2018 ที่คาดว่าประกอบไปด้วยบุคคลอื่นผู้สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines) และขบวนการกองกำลังประชาชนใหม่ (New People’s Army) อย่างน้อย 600 รายชื่อ กฏหมายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Act) ของฟิลิปปินส์ถูกยกเลิกในขณะนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับที่กฏหมายต่อต้านการก่อการร้ายถูกบังคับใช้ และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ทั้งคู่ก็ถูกสังหาร

แม้ชื่อของคา แรนดี และซาราจะถูกนำออกจากรายชื่อในคำร้องเรียนของกระทรวงยุติธรรมในภายหลังก็ตาม ทั้งสองก็ตกเป็นเป้าจู่โจมของรัฐบาลไปแล้ว และได้พบจุดจบอันโหดร้าย ทว่าก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากการตราหน้าเช่นนี้ แมรี ลอว์ลอร์ (Mary Lawlor) ผู้เสนอรายงานการประชุมพิเศษประจำองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยสถานการณ์ของกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้นิยามการตราหน้าบุคคุลว่า เป็นภัยอย่างจำเพาะในทางบริบทต่อชีวิตผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ในรายงานเมื่อปี 2020 ของเธอ ดังคำรายงานว่า “การถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือผู้ก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนักสิทธิมนุษยชน และผู็ที่ถูกตราหน้าเช่นนั้นบางคนก็ถูกสังหาร”

มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเข่นฆ่านอกกฎหมาย ในช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านกบฎของรัฐบาลฟิลิปปินส์มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 ถึงมิถุนายน 2021 รวมกว่า 400 ราย หลายศพในจำนวนนั้นคือนักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน สมาชิกสหภาพทางการค้า นักเรียกร้องสันติภาพ ผู้นำประชาชนชั้นรากหญ้าและชนพื้นเมือง นักสิ่งแวดล้อม สมาชิกศาสนจักร ทนายความ และนักข่าว ที่มักจะถูกตราหน้าต่อสาธารณชนว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ก่อนพูกสังหารอย่างเลือดเย็น โดยมือสังหารนิรนาม หรือตำรวจทหารระหว่างออกปฏิบัติการ “ตอบโต้” ผู้ต้องหาในเหตุต่างๆ เช่นเดียวกับในแนวคิด “นันลาบัน” ในสงครามยาเสพติด

เช่นนี้แล้ว สิงหาคมจึงเป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์แห่งการฆ่าล้างในประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้การนำของดูเตอร์เตและคณะ ผู้สร้างผลงานในประเทศผ่านการฆ่ากวาดล้าง ทิ้งครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตให้ทรมาย และก่อการร้ายระดับรัฐ เราเลือกสิงหาคม ให้เป็นเดือนแห่งการจดจำและตระหนักรู้ ให้เป็นเดือนแห่งการลงมือเรียกร้องความยุติธรรม นโยบายสังหารหมู่โดยรัฐเช่นนี้จะต้องจบลง

เราจะรำลึกถึงเคียน คาร์ล คูลอท คา แรนดี และซารา ร่วมไปกับเหยื่อจากการสังหารนอกกฏหมายนี้อีกนับพัน เราขอแสดงจุดยืนเคียงข้างครอบครัวของพวกเขา และเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม เราจึงขอเรียกร้องให้หยุดการเข่นฆ่า หยุดกฏหมายนองเลือด และทุกนโยบายที่ทำให้ฆาตกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ เราขอเรียกร้องให้องค์กรนานาชาติ เช่น ICC และสภาสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ดำเนินการสืบสวนกรณีวิกฤตทางสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ผ่านหน่วยงานอิสระและมีความเที่ยงตรง เพื่อดำเนินคดีกับประณานาธิบดีดูเตอร์เตและพรรคพวก ให้รับผิดจากการก่ออาชญากรรมอันโหดร้ายแก่ชาวฟิลิปปินส์

เราจะต้องไม่ปล่อยให้เคียน คาร์ล คูลอท คา แรนดี หรือซารารายใหม่ตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินนโยบายเยี่ยงฆาตกรภายใต้การปกครองของดูเตอร์เต เราจะต้องลุกขึ้นต่อต้านการละเมิดสิทธิของประชาชนและเสรีภาพของพลเรือนอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้ เดี๋ยวนี้ ###

รายชื่อผู้ลงนามเบื้องต้น

  • Karapatan
  • Rise Up for Life and for Rights
  • Kilusang Magbubukid ng Pilipinas
  • Ecumenical Voice for Human Rights and Peace in the Philippines
  • Concerned Artists of the Philippines
  • Sandugo Movement of Moro and Indigenous Peoples for Self-Determination
  • Kalikasan People’s Network for the Environment
  • National Union of Peoples’ Lawyers
  • Kodao Productions